บทบาทของวัดไทยในต่างประเทศ

บทบาทของวัดไทยในต่างแดน 

The Roles of Wat Thai in the American Societies.

 1. ด้านเผยแผ่พุทธศาสนา

 วัดเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พุทธศาสนาทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ  ด้านทฤษฎีนั้น เปิดให้มีการเรียนการสอนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ประเพณีอันดีงามทางพุทธศาสนา เป็นแหล่งข้อมูลทางด้านพุทธศาสนา มีการเผยแผ่ธรรมะด้วยการจัดทำสิ่งตีพิมพ์ บันทึกเทปธรรมะ    บันทึกวีดีโอเทปเผยแผ่ และใช้สื่อเทคโนโลยีใหม่ เช่น อินเตอร์เน็ต (Internet) ไปรษณีย์อิเลคทรอนิกส์    (E-mail) เป็นต้น ส่วนด้านการปฏิบัติ มีจัดอบรมการเรียนการสอนสมาธิภาวนา ฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แก่ผู้ที่สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

2.  ด้านให้การศึกษาภาษาไทยศิลปวัฒนธรรมประเพณีชาวพุทธแบบไทย

วัดเป็นศูนย์กลางเผยแผ่ศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทย ทั้งด้านภาษาไทย สถาปัตยกรรมไทย นาฏศิลป์ ดนตรีไทย กีฬาแบบไทย จัดกิจกรรมนันทนาการที่น่าสนใจเพื่อส่งเสริมประเพณีไทยในเทศกาลต่าง ๆ เช่น ประเพณีสงกรานต์,ลอยกระทง,แห่เทียนพรรษา,ทอดกฐิน เป็นต้น

3. เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธ

วัดเป็นศูนย์กลางงานด้านสังคมสงเคราะห์แก่ประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนทั้งชาวพุทธไทย ลาว เขมร  โดยวัดเป็นเครือข่ายให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจโดยใช้หลักธรรมะ ให้คำปรึกษา แนะนำในการดำเนินชีวิต ในท่ามกลางความสับสน เพราะความหลากหลายแห่งวัฒนธรรมในสังคมอเมริกัน มีการเชื่อมโยงถึงกันระหว่างวัด หรือองค์กรต่าง ๆ ภายในชุมชน ภายในประเทศ และระหว่างประเทศ อันเป็นที่พึ่งพาอาศัยของเพื่อนมนุษย์ผู้ที่ตกทุกข์ได้รับความลำบากต่าง ๆ

4.  เป็นแหล่งให้ข่าวสารข้อมูล ทุก ๆ ด้าน

            วัดเป็นศูนย์กลางด้านข่าวสารข้อมูล ซึ่งผู้สนใจสามารถค้นหาได้จากวัด เพราะวัดเป็นบ่อเกิดแห่งสรรพวิชาการต่าง ๆ ทุก ๆ ด้านเช่น พุทธศาสนา ภาษาไทย  ศิลปะ วัฒนธรรมไทย ขนบธรรมเนียม ประเพณีไทย วัดในต่างประเทศยังคงรักษาบทบาทของวัดในสมัยโบราณ คือประชาชนจะใช้วัดเป็นสถานที่พบปะพูดคุยได้ทุกเรื่อง

 สภาพปัญหาทั่วไปของวัดไทย และพระธรรมทูตผู้ปฏิบัติหน้าที่

 1. สถานะของวัดไม่มั่นคง เช่น ขาดการอุปถัมภ์บำรุงส่งเสริมจากพุทธศาสนิกชน  ไม่มีทุนเพียงพอ

2. เทคนิคและวิธีการสอนธรรมะของพระสงฆ์ในวัดไม่จูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้าวัด

3. พระธรรมทูตมีปัญหาเรื่องภาษาในการสื่อสาร และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรม สังคมที่จะไปประจำทำงาน

4. พระธรรมทูต ขาดภูมิธรรม ภูมิปัญญา คือ ด้านความรู้ภาคทฤษฎี และความประพฤติในภาคปฏิบัติ

5. อาจาระของพระธรรมทูตไม่นำมาซึ่งความเลื่อมใสศรัทธา

6. ความไม่เป็นเอกภาพด้านรูปแบบการเผยแผ่ของพระสงฆ์ไทย และวัดไทย

 คุณสมบัติที่ดีของพระสงฆ์ผู้ที่ทำหน้าที่พระธรรมทูต

 1.  มีความแม่นยำในหลักของพุทธศาสนาทั้งด้านวิชาการ และด้านการปฏิบัติ  (ภูมิธรรม-ภูมิปัญญา)

2. สามารถใช้ภาษาและวิธีการสอนที่สามารถสื่อสารกับประชาชนได้ดี

3. สามารถใช้สื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการเผยแพร่ศาสนา เช่น อินเตอร์เน็ต หรืออุปกรณ์ทางเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ทันสมัย เป็นประโยชน์ในการทำงาน

4. มีความเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น และสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมนั้น ได้ดี

5. เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ สามารถประสานสามัคคีระหว่างพระสงฆ์ และประชาชนในชุมชนนั้นได้ดี

6. มีคุณสมบัติที่เหมาะสม ทางด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของวัด และสังคมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรม สังคมที่จะไปประจำทำงาน 

ฝากไว้ให้คิด

 พระภิกษุสงฆ์ที่ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศนั้น ต่างก็ประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย เช่น ด้านอาหาร ด้านดินฟ้าอากาศ ตลอดถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี  กฎหมาย วัฒนธรรมท้องถิ่น ประการสำคัญ ก็คือ ภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกัน หรือแม้แต่ความลึกซึ้งในพุทธธรรม และจิตภาวนา ซึ่งเป็นเรื่องของตนเองก็ยังไม่ชัดนัก

         นอกจากนี้พระสงฆ์ที่ไปปฏิบัติศาสนกิจ ในต่างประเทศนั้นจะต้องทำกิจวัตรทางศาสนาอย่างเคร่งครัด เช่น ทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิ และสอนภาษาไทยแก่นักเรียนลูกครึ่งไทย-ฝรั่ง ท่านจะต้องระวังมิให้ความโดดเดี่ยวและเปล่าเปลี่ยวใจมาเป็นปัญหาแก่วิถีชีวิตของผู้ถือเพศพรหมจรรย์ หรือบางครั้งก็ต้องสังเวยชีวิตตนเองเพื่อพระศาสนา ก็มี .

 

Leave a comment

Your email address will not be published.