การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปลงที่ย่างกุ้งเมืองหลวงของพม่าใช้เวลาประมาณ ๑ ช.ม. แต่เวลาของพม่าจะช้ากว่าไทยประมาณ ๓๐ นาที กำลังนั่งดูก้อนเมฆเพลิน ๆ สักครู่แอร์โฮสเตทสาวเมียนม่าร์ในชุดผ้าถุงสีฟ้าเข้มยาวถึงตาตุ่มลวดลายสีเขียวทอเป็นลายนูนอย่างสวยงาม สวมรองเท้าหุ้มส้นสูงพอประมาณ เสื้อคอกลมแขนกระบอกรัดรูปปักลายที่แขนสีเดียวกัน ทำให้ผู้โดยสารรู้สึกสดชื่นเวลาเธอทั้งหลายยิ้มต้อนรับ และทักทายด้วยภาษาพม่า ว่า “มิงกาลาบา” แปลว่า “สวัสดีค่ะ /ครับ” พวกเธอมองดูหน้าตาสดสวยหมดจดทุกคน “ผิวพม่า นัยน์ตาแขก” สมคำรำลือจริง ๆ
พวกเธอ เข็นรถนำน้ำดื่ม น้ำชา กาแฟ มาเสิร์ฟ และ ตามด้วยอาหารเช้าเป็นแซนวิส และขนมหวานอีกอย่างหนึ่ง ก็เลยได้ทำภัตตกิจบนเครื่อง แต่ก่อนหน้านี้ญาติโยมก็เป็นห่วงกลัวว่าจะไม่อะไรฉัน ก็เลยได้แวะซื้อขนมปัง และผลไม้ต่าง ๆ มีชมพู่ มะม่วง ฝรั่ง และ ส้ม ถือติดขึ้นไปด้วย ก็เลยไปผสมโรงกันเลย ก็เสร็จไปอีกมื้อหนึ่ง กำลังนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ข่าวต่าง ๆ เกี่ยวกับคลื่นยักษ์สึนามิเพลิน ๆ อยู่ก็พอดี พนักงานประกาศให้รัดเข็มขัด เก็บพนักเก้าอี้หน้าที่นั่งให้เรียบร้อย เพราะเครื่องบินได้เดินทางมาถึงเขตเมืองหลวงของประเทศพม่าแล้ว
เครื่องได้ร่อนลง ณ สนามบินมิงคลาดง ของประเทศพม่า ตามเวลาท้องถิ่นประมาณ ๐๘.๓๐ น. การเข้าจอดของเครื่องบินที่สนามบินพม่าก็ยังไม่ทันสมัยเท่าไรเพราะต้องจอดเครื่องบินที่กลางสนามบินแล้วก็ต้องลงไปนั่งรถบัสต่อ แต่ระยะทางก็ไม่ไกล แค่ไม่ถึง ๕๐๐ เมตรก็ถึงประตูอาคารพักผู้โดยสารขาเข้า มีหลายคนพูดว่ารู้ว่าใกล้แค่นี้เดินมาก็ถึงก่อนรถอีก แต่เจ้าหน้าที่เขาคงไม่ยอมให้เดินเพราะจะเกิดอันตราย อีกอย่างสนามบินก็กำลังก่อสร้างขยายอาคารที่พักผู้โดยสาร เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ซึ่งนับวันจะเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่พม่าได้เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๖ (Visit Myanmar Year 1996)
ทุกคนต่างตื่นเต้นกันมากเมื่อลงจากเครื่องบินสัมผัสแผ่นดินพม่าโดยตั้งใจกันมานานเป็นปี และเดินทางมาไกลจากสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว ตอนนี้ความรู้สึกเริ่มเปลี่ยนไปเพราะบางคนคิดแต่ว่าพม่าเคยเป็นศัตรูคู่รักคู่แค้นกับไทยมาในอดีตอันยาวนาน ก็เป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไปแล้ว
พวกเราเดินลงบันใดจากเครื่องบินเพื่อไปขึ้นรถบัสสภาพก็กลางเก่ากลางใหม่ โดยนำมาดัดแปลงและพ่นสีใหม่ ทราบว่าเป็นรถเก่าของญี่ปุ่นทั้งนั้นที่โละให้พม่านำมาใช้ภายในประเทศที่ด้อยพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ขึ้นบันใดรถไปก็เจอกับคนขับเป็นผู้ชายเคี้ยวหมากปากแดง เห็นฟันดำเวลายิ้มทักทาย “มิงกลาบา” ใส่เสื้อเชิ๊ตแขนสั้นสีขาว นุ่งสะโหร่ง สวมรองเท้าแตะ และออกถึงการแต่งกายตามแบบฉบับวัฒนธรรมดั้งเดิมของพม่า แปลกแต่ไม่มีผ้าโพกหัว คงจะใช้เฉพาะในพิธีการเท่านั้น คนเดินถนนทั่วไปไม่นิยมโพกผ้าบนศีรษะ
ก่อนรถจะเคลื่อนออกไปยังอาคารที่พักผู้โดยสารนั้น พลันสายตาเหลือบไปเห็นตราสัญลักษณ์ของสายการบินเมียนม่าร์แอร์ไลน์ที่หางเครื่องบิน เป็นรูปสัตว์ประหลาดชนิดหนึ่ง มีงวงและงาเหมือนช้าง มีผิวเหมือนสิงโต มีเขาและขาเหมือนกวาง มีปีกเหมือนนก และมีลำตัวและหางเหมือนปลา อดแปลกใจไม่ได้ แต่ไม่รู้จะถามใคร ก็เลยเก็บคำถามเอาไว้ถามไกด์ ก็ได้ความว่า “สัตว์ประหลาดนี้มีชื่อ ว่า พยินสา รูปา แปลว่าความงามแห่งสรีระ นำมารวมกันเป็นสัตว์ในจินตนาการของปราชญ์พม่า ก็คงไม่ผิดกับสัตว์ป่าหิมพานต์ของไทย ซึ่งนิยมเอาสัตว์หลายชนิดมาร่วมกันแล้วก็ตั้งชื่อใหม่ เช่น กินรี ลำตัวและใบหน้าเป็นมนุษย์ผู้หญิง ส่วนหางและขา เป็นนก หรือ นรสิงห์ ลำตัวและหน้าเป็นคนตัวเป็นสิงโต เป็นต้น
ตัวพยินสา รูปา ของพม่านี้ก็เหมือนกัน ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ถึง ๕ ชนิด เป็นสัตว์รูปกายใหม่ ทำให้มีอำนาจ สง่างาม บินได้เหมือนนก ว่ายน้ำได้เหมือนปลา วิ่งได้เร็วเหมือนกวาง และมีพละกำลังมหาศาลเหมือนช้าง สายการบินพม่าก็เลยนำมาเป็นตราสัญลักษณ์ ซึ่งก็ได้แนวความคิดที่แปลกและลึกซื้งในความหมาย และคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมพม่าด้วย
พวกเราลงจากรถบัสแล้วก็เดินของประตูเล็ก ๆของอาคารรับผู้โดยสารขาเข้า เป็นอาคารชั้นเดียว มองดูด้านนอกจากสนามบินจะมีหน้ามุขยื่นออกไปประดับไม่แกะสลักลวดลายสวยงาม ทาทองเหลืองอร่ามนี่ขนาดอาคารในสนามบินก็โชว์ความเป็นสุวรรณภูมิแล้ว แต่ข้าง ๆ ก็มีรั้วกั้นชั่วคราวกำลังมีการก่อสร้าง วัสดุต่าง ๆ ก็ระเกะระกะ อีกไม่นานก็คงจะมีความพร้อมกว่านี้
พวกเราเดินเข้าแถวเพื่อตรวจวีซ่าในหนังสือเดินทาง ซึ่งก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรเพราะมีเข้าเมืองน้อยในเที่ยวบินนี้ เมื่อผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมืองแล้ว ก็ไปรับกระเป๋าที่สายพาน นำกระเป๋าใส่รถเข็นเดินออกมาเป็นกลุ่มเพราะมีแค่ ๘ คน ก็เดินผ่านช่องสีเขียวของเคาน์เตอร์เจ้าหน้าที่ศุรกากร ตรวจสินค้าและวัตถุผิดกฏหมายที่นำเข้าประเทศพม่า แต่พวกเราไม่มีอะไรจะแสดงและนำเข้ามาแบบผิดกฏหมาย ก็ได้แต่ดูพาสปอร์ตแล้วก็เดินผ่านออกไปยัง บริเวณที่ผู้มารอรับผู้โดยสารและลูกทัวร์
เมื่อเดินออกมาพ้นเขตหวงห้ามแล้วก็ได้เห็นป้ายชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ตัวโต “PHRAMAHA THANAT INTHISAN GROUP” โดยมีไกด์เป็นหญิงสาวชาวพม่า ชื่อ บัวทิพท์ มายกป้ายต้อนรับแล้วพูดไทยได้ชัดเจนต้อนรับคณะเราไปขึ้นรถมินิบัส ขนาด ๒๐ ที่นั่ง แต่พวกเราไปกันแค่ ๘ คน ก็เลยเหมาเบาะแถวละคนไปเลย นอกนั้นก็บรรจุกระเป๋าซึ่งก็มีแค่คนละใบ คนขับรถเป็นหนุ่มพม่าอายุประมาณ ๓๐ กินหมากปากแดง ใส่เสื้อเชิ๊ตแขนสั้นสีขาว และนุ่งโสร่งลายเล็ก ๆ ยิ้มทักทายพร้อมกับประนมมือไหว้เมื่อเห็นพระคุณเจ้าขึ้นมาบนรถ และก็มีเด็กรถอีกคนหนึ่งแต่งตัวเหมือนกันแต่ใส่เสื้อเชิ๊ตสีขาวแขนยาว สวมหมวก คอยปิด เปิดประตูและอำนวยความสะดวกแก่คณะ ด้วยอัธยาศรัยไมตรี และแสดงความเคารพนอบน้อม
เมื่อรถเคลื่อนตัวออกจากสนามบินมิงกลาดง เธอก็ได้หยิบไมค์ขึ้นกล่าวทักทายเป็นภาษาพม่า “มิงกลาบา” แปลว่า “สวัสดีค่ะ” แล้วได้กล่าวทักทายเป็นภาษาไทย และพูดไทยตลอดอย่างคล่องแคล่วและชัดเจนพอสมควร