พาเวรมาก่อน สลากภัต มาที่หลัง

พาเวรมาก่อนสลากภัตมาทีหลัง

ในช่วงเดือนกันยายน เป็นเดือนที่ทุกวัดในประเทศและต่างประเทศจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีชาวพุทธ ที่เกี่ยวเนื่องกับวันสำคัญสารทไทย คือ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีตามหลักในทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้ทราบถึงประวัติความเป็นมา และเนื้อหาสาระของวันสารทไทย หรือ สลากภัต ขอนำเรื่องในคัมภีร์พระธรรมบทมาเล่าให้ท่านรับฟัง ดังต่อไปนี้

 

พาเวรมาก่อนสลากภัตมาทีหลัง 

               สลากภัตนั้น เป็นชื่อที่เกี่ยวกับวินัยกรรมในทางพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง แต่เป็นวินัยกรรมที่เกี่ยว เนื่องกับการทำบุญกุศล และมีความเกี่ยวข้องระหว่างบรรพชิตกับคฤหัสถ์ จึงไม่มีการตั้งญัตติเหมือนวินัยกรรมบางอย่าง ในแง่ของความเป็นมานั้นมีอยู่ ๒ เรื่อง คือ ๑.) เรื่องพระเจ้าพิมพิสารทำบุญอุทิศให้แก่พระญาติของพระองค์ซึ่งเสวยภพเป็นเปรต ๒.) เรื่องนางยักษิณี เรื่องแรกนั้นมีความชัดเจนว่าทำบุญอุทิศให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้วโดยผ่านพระภิกษุสงฆ์  แต่เรื่องที่สองนั้น มีความเกี่ยวข้องกับหัวข้อที่กำลังพูดถึงอยู่ในขณะนี้พอดีนั่นก็คือเรื่องสลากภัต

                เรื่องเล่าว่า…. มีพราหมณ์อยู่ตระกูลหนึ่ง ซึ่งมีลูกชายหัวแก้วหัวแหวนอยู่คนหนึ่ง ธรรมดาว่าพราหมณ์นั้นจะกลัวว่าตระกูลของตนขาดสูญจึงเร่งเร้าให้ลูกชายเพียงคนเดียวนั้นแต่งงาน มีเหย้ามีเรือน เพราะกลัวว่าจะไม่มีผู้สืบวงศ์ตระกูลต่อไป แต่ฝ่ายลูกชายนั้นมีความเบื่อหน่ายการครองเรือน หวังจะออกบวชแต่พ่อแม่ไม่ยอม หนำซ้ำยังไปนำเอานางกุมารีนางหนึ่งหน้าตาสวยสดงดงาม มามอบให้แก่ลูกชายอีกด้วย ฝ่ายลูกชายปฏิเสธอย่างไรก็ไม่พ้น จึงจำใจต้องอยู่กันฉันสามีภรรยากับนางกุมารีนั้น

                แต่อนิจจาลางเนื้อชอบลางยา พราหมณ์ยิ่งกลัวจะไม่มีลูกหลานสืบวงศ์ตระกูล หญิงสะใภ้ที่ตนนำมาให้แก่ลูกชายนั้นกลับเป็นหญิงหมันเสียอีก เรียกว่าผีซ้ำด้ามพลอยต่อพราหมณ์สองตายายเข้าให้แล้ว กุมารีนางนี้จึงมีชื่อว่า วัญญิตถี  เพราะความที่ตนเป็นหญิงหมันไม่สามารถมีลูกให้แก่สามีได้ ข้อนี้ก็เป็นปมด้อยของสตรีเป็นความทุกข์ใจของสตรีอย่างหนึ่งด้วย

                ฝ่ายพ่อแม่ของสามีก็มีความกลุ้มใจเป็นคำรบที่สองว่า  หญิงสะใภ้ของตนเป็นหญิงหมันถือว่าเป็นหญิงไม่ต้องด้วยโฉลกการครองเรือนเป็นหญิงกาลกัณณี อย่ากระนั้นเลย พวกเราพากันไปหานางกุมารีคนใหม่มาให้แก่ลูกชายของเราเถิด เมื่อปรึกษากันแล้ว ก็พากันไปหากุมารีคนใหม่มาให้แก่บุตรของตนเอง ตกลงว่ามาณพน้อยนั้นกลับมีเมีย  ๒ คนภายในเวลาไม่นานนัก

                นางหญิงหมันภรรยาคนแรกนั้นเกิดความทุกข์ใจอย่างหนักเพราะตนไม่สามารถตั้งครรภ์ได้  นางคิดว่าหากวันใดนางกุมาริกาผู้เป็นเมียน้อยนั้นตั้งครรภ์และมีลูกออกมาให้สามีและปู่ย่า (พ่อแม่ผัว) ได้เชยชมแล้ววันนั้นเขาก็จะไม่เห็นตนอยู่ในสายตา จะถูกด่าถูกว่าถูกข่มเหงน้ำใจสารพัดและในที่สุดก็จักไล่ตนเองออกจากบ้าน  จักกลายเป็นหญิงหม้าย  แม้คาถาในเวสสันดรชาดกก็ยังกล่าวไว้ว่า : –

                                          นัคคา   นที  อนูทกา            นัคคัง   รัฎฐัง   อราชกัง 

                                                อิตถีปิ  วิธวา  นัคคา           ยัสสาปิ  ทสะ  ภาตโร

                                                เวธัพยัง   กฎุกัง  โลเก       คัจฉัญเญวะ   รเถสะภะ.

                ความว่า “แม่น้ำไม่มีน้ำก็เปล่าดาย  แว่นแคว้นไม่มีพระราชาก็ไม่เลิศ แม้หญิงแม่หม้ายก็เปล่าดายแท้  แม้จะมีพี่น้องตั้ง  ๑๐  คนก็ตาม ความเป็นหม้ายเป็นความเผ็ดร้อนในโลก”

                เมื่อนางคิดดังนั้นแล้ว ก็เริ่มวางแผนการขึ้นในใจอยู่คนเดียวว่า  เมื่อเราไม่มีลูกคนอื่นก็อย่าหวังจะมีลูกได้เลย  รอยยิ้มอันเยือกเย็นปรากฏขึ้นบนริมฝีปากของนางหญิงหมันแวบหนึ่ง ก่อนจะเข้านอนในเย็นวันนั้น….

พอรุ่งเช้าของวันใหม่มาถึง หลังจากที่ว่างเว้นจากการงานในบ้านแล้ว   นางวัญญิตถีผู้เป็นเมียหลวงก็พูดกับนางกุมาริกาผู้เป็นเมียน้อยด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนแสดงถึงความเป็นห่วงเป็นใยว่า นางกุมาริกานั้นโชคดี แต่พี่นั้นเป็นคนอาภัพไม่สามารถจะมีครรภ์ได้ น้องไม่โชคร้ายอย่างพี่หรอกนะ.. อย่างไรก็ตามธรรมดาว่าหญิงนั้น เมื่อเริ่มตั้งครรภ์จะเกิดอาการแพ้ท้อง จำต้องเอาใจใส่ดูแลให้ดี น้องเองอยู่ร่วมสามีอย่างนี้แล้วก็ต้องมีครรภ์แน่นอน  อย่างไรเสียพี่จะคอยดูแลเอาใจใส่น้องเอง ขอให้น้องบอกพี่เวลาที่ตนแพ้ท้องก็แล้วกันนะ นางวัญญิตถีหรือนางหญิงหมันกล่าวพร้อมกับซ่อนแววอำมหิตไว้ในส่วนลึก ฝ่ายนางกุมาริกาก็พาซื่อรับปากเป็นมั่นเหมาะว่าถ้าตนแพ้ท้องเมื่อใดแล้วจะบอกให้ทราบ

                กาลเวลาผ่านไปไม่นานนัก นางกุมาริกาก็บอกแก่นางวัญญิตถีว่าตนแพ้ท้องแล้ว  นางวัญญิตถีกุลีกุจอหาหยูกยาบำรุงบำเรอมาให้รับประทาน แต่เป็นที่น่าเห็นใจมากเพราะนางกุมาริกาไม่รู้เลยว่า ยาที่ตนทานเข้าไปนั้น มันเป็นยาฆ่าเด็กในครรภ์ หรือยาแท้งเราดี ๆ นี้เอง นางกุมาริกาหลงกลให้แก่นางหญิงหมันได้ทานยาทำลายครรภ์เข้าไปโดยเข้าใจว่าเป็นยาบำรุงครรภ์ และแล้วนางก็ได้แท้งก่อนกำหนด แต่นางกุมาริกาก็ยังไม่รู้ว่าตนแท้งลูก เพราะทานยานั้น

                กาลเวลาผ่านไปอีกหลายเดือนนางก็เริ่มตั้งครรภ์ใหม่อีก แต่คราวนี้นางกุมาริกายังไม่บอกในตอนแพ้ท้องนางมาบอกเอาก็ตอนที่ครรภ์เริ่มแก่เข้าเดือนที่ ๖ แล้วนางหญิงหมันจึงต่อว่าต่อขานว่าทำไมจึงบอกเราช้านักว่าแล้วนางก็วิ่งเข้าไปเตรียมยาทำลายครรภ์ให้แก่นางกุมาริกาทานอีก  แต่ในใจของนางนั้นมีความวิตกกังวลว่ากลัวจะไม่สามารถทำยาให้ครรภ์ตกได้ เพราะเข้าสู่เดือนที่ ๖ แล้วเด็กเป็นตัวสมบูรณ์จนดิ้นได้แล้วจึงเพิ่มปริมาณยาขึ้นอีก เพราะอย่างไรเสียตนจะต้องทำลายครรภ์ของนางกุมาริกาให้ได้ คิดดังนั้นแล้ว ก็นำยาสูตรมรณะนั้นไปให้แก่นางกุมาริกาโดยอ้างว่าเป็นยาบำรุงครรภ์สูตรพิเศษเช่นเคย

                ฝ่ายนางกุมาริกาก็ได้ทานยานั้นอีกโดยมิได้เฉลียวใจแม้แต่น้อย แต่เพราะความที่ครรภ์นั้นโตมากแล้วลูกในท้องของนางจึงตายคาอยู่ในอุทรนั่นเอง นางกุมาริกาเองก็เจ็บท้องสุดทรมาน สุดท้ายนางก็รู้ความจริงจนได้ว่านางหญิงหมันทำยาแท้งให้นางทานถึงสองครั้งขณะที่มีครรภ์ เพราะกลัวว่าตนจะมีลูกและลูกของตนจะได้รับทรัพย์มรดกเมื่อรู้ความจริงดังนั้นแล้ว ประกอบกับเวทนาที่กล้าแข็งแห่งชีวิตห้วงสุดท้าย นางจึงตั้งจิตอธิษฐานว่าจะเกิดมาจองล้างจองผลาญนางหญิงหมันให้ได้ แล้วนางก็สิ้นใจในตอนนั้น เพราะทนต่อความเจ็บปวดไม่ไหวบ้านเราเรียกการตายแบบนี้ว่า  ตายทั้งกลม

                อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะสิ้นใจนั้น นางได้รับรู้ถึงแผนร้ายของนางหญิงหมันจนหมด จากปากของนางหญิงหมันเอง ที่นางหญิงหมันยอมเปิดเผยความลับว่าตนประกอบยาฆ่าเด็กในครรภ์ให้นางทาน เพราะกลัวว่านางจะมีลูกเมื่อนางกุมาริกามีลูกแล้วสามีก็จะหลงรักนางกุมาริกาเพียงคนเดียว แม้ลูกที่คลอดออกมานั้น ก็จะเป็นเจ้าของสมบัติทั้งหมด เมื่อนางกุมาริกาทราบความจริงดังนั้นแล้ว นางก็รู้สึกอาฆาตนางวัญญิตถีขึ้นมาทันทีตามวิสัยของปุถุชนพร้อมความอาฆาตที่รุนแรงเช่นนั้นนางกุมาริกาจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า “ขอให้ตนได้ไปเกิดในที่ใกล้เคียงกับนางหญิงหมันด้วยเถิด เพื่อที่จะได้กินลูกของนางหญิงหมันเป็นการแก้แค้นบ้าง” ดังนี้ แล้วก็สิ้นใจไปพร้อมกับการผูกเวร

                หลังจากทั้งสองได้เวียนเกิดเวียนตายอยู่หลายชาติ ในชาติที่สุดทั้งสองได้มาเกิดอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันโดยนางกุมาริกาเกิดเป็นนางแมว ฝ่ายนางวัญญิตถีหรือนางหญิงหมันได้เกิดเป็นแม่ไก่ในบ้านหลังนั้นเช่นกัน เมื่อทั้งสองเติบใหญ่ขึ้นแม่ไก่ก็ถึงคราววางไข่ ฝ่ายนางแมวก็ได้จังหวะย่องมาในขณะที่แม่ไก่กำลังหมอบวางไข่ในครั้งที่สามอยู่ จึงเกิดทะเลาะกันขึ้น แม่ไก่ก็ตัดเพ้อต่อว่านางแมวว่ามากินไข่ของตนเองจนหมดไปสองครั้งแล้ว ช่างใจร้ายยิ่งนักนางแมวก็ตอบว่ามิใช่แต่เราจะกินไข่ของเจ้าเท่านั้น แม้แต่ตัวของเจ้าเองเราก็กำลังจะกินอยู่เดี๋ยวนี้ ว่าแล้วก็โดดตระคลุบแม่ไก่ แม่ไก่หนีไม่รอดแต่ก่อนสิ้นใจนั้นได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า “เกิดชาติหนึ่งภพใดขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นผู้มีโอกาสเพื่อการได้กินซึ่งนางแมวนี้บ้าง” แล้วก็ตกเป็นอาหารของนางแมวไป

                หลังจากที่ทั้งสองเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารหลายภพหลายชาติ ในภพที่สุดนางแมวก็ได้ไปเกิดเป็นแม่วัวอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ฝ่ายแม่ไก่ก็ได้ไปเกิดเป็นแม่เสือเหลืองอยู่ในป่าใกล้หมู่บ้านนั้น..เมื่อเวลาผ่านไปทั้งสองก็เติบโตขึ้นตามลำดับ  นางเสือเหลืองทราบข่าวการตั้งครรภ์ของแม่วัวตลอด  แต่ยังไม่ปรากฏตัว  แต่เมื่อแม่วัวตกลูกเท่านั้นนางเสือเหลืองก็มากินลูกของแม่วัวเสีย แม้การตกลูกครั้งที่สองก็เช่นกัน

                ในครั้งที่สามขณะที่แม่วัวกำลังคลอดลูกอยู่นั้นแม่เสือเหลืองก็มาแล้ว   แม่วัวเลยพูดวิงวอนกึ่งน้อยใจว่า แม่เสือเหลืองอย่าได้กินลูกของข้าพเจ้าอีกเลยเพราะลูกของข้าพเจ้าสองตัวท่านก็กินไปแล้ว  นางเสือเหลืองแทนที่จะมีเมตตากลับคำรามขึ้นว่า เจ้าไม่ต้องขอร้องซะให้ยากว่าแล้วก็ตะปบลูกน้อยของแม่วัวกินเป็นอาหาร  เมื่อกินเสร็จแล้วก็พูดกับแม่วัวว่า  แม้เจ้าก็จะเป็นอาหารของเราในวันนี้เช่นกัน  แม่วัวตอบทั้งน้ำตาว่า ลูกของข้าพเจ้าทั้งหมดตกเป็นอาหารของท่านแล้ว บัดนี้ท่านยังจะจับข้าพเจ้ากินเป็นอาหารอีกเจ้าช่างโหดร้ายนัก อิโต  จุตา  สปุตตกัง  ตัง  ขาทิตุง  ลเภยยัง   ตั้งแต่นี้ต่อไปในชาติหน้า  เราพึงได้เขี้ยวกินท่านพร้อมด้วยบุตรบ้างหลังจากแม่วัวกล่าวจบนางเสือเหลืองก็โดดกัดเข้าที่คอของแม่วัวทันที

                ร้อยอัตภาพผ่านไป ในที่สุดนางเสือเหลืองได้มาเกิดเป็นนางกุลธิดา และแม่วัวกลับชาติมาเกิดเป็นนางยักษิณีในเมืองสาวัตถีทั้งสอง เมื่อนางกุลธิดาคลอดบุตรนางยักษิณีก็มากินลูกของนางทั้งสองคน เมื่อใกล้จะคลอดคนที่สามนางจึงกล่าวกับสามีว่า จะกลับไปคลอดบุตรที่อื่นเพื่อหลบหนีนางยักษิณีสามีก็ตามใจ ฝ่ายนางยักษิณีกำหนดวันคลอดของนางกุลธิดาแล้วก็มาหาที่บ้านแต่ไม่พบ นางยักษ์ที่จำแลงเพศนั้น ก็ถามคนที่อยู่ในละแวกนั้นว่านางกุลธิดาเพื่อนของตนไปไหนเสีย ชาวบ้านในละแวกนั้นก็บอกว่านางกลับไปคลอดลูกอยู่ที่บ้านพ่อแม่ของตน  เมื่อนางยักษิณีได้ฟังดังนั้นก็รีบตามไปโดยเร็วด้วยอำนาจแห่งเวร (เวรวเสนะ)

ฝ่ายนางกุลธิดาคลอดบุตรชายคนที่สามที่น่ารักน่าใคร่แล้ว คิดว่านางยักษ์จะไม่ตามมารังควาญจึงชวนสามีกลับไปอยู่ที่บ้านพ่อแม่ผัวตามเดิม เส้นทางที่เดินกลับบ้านของพ่อแม่ผัวนั้น จะต้องผ่านสระโบกขรณีซึ่งอยู่นอกเมืองไม่ไกลนัก และเมื่อไปถึงสระน้ำดังกล่าวนั้น ฝ่ายสามีก็ปรารภว่าจะลงอาบน้ำให้สบายตนเสียก่อน เพราะเดินทางฝ่าเปลวแดดมาร้อนอบอ้าวเหลือเกินว่าแล้วก็เปลี่ยนชุดลงอาบน้ำในสระโบกขรณีนั้น ปล่อยให้ภรรยา (นางกุลธิดา) นั่งคอยอยู่บนฝั่ง ขณะที่นางกุลธิดากำลังนั่งให้ลูกน้อยดื่มนมอยู่นั้น สายตาของนางก็มอง เห็นนางยักษิณีกำลังตามมาแต่ไกล นางจึงตะโกนร้องเรียกสามี แต่สามีกำลังดำผุดดำว่ายอยู่อย่างสบายอารมณ์  ครั้นจะคอยสามีก็คงจะไม่ทันการณ์ ทั้งระยะทางจากจุดนั้นเข้าไปในเมืองสาวัตถีก็ไม่ไกลนัก นางจึงตัดสินใจอุ้มลูกน้อยวิ่งหนีนางยักษิณีเข้าไปในเมืองทันที

                ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคกำลังทรงแสดงธรรม แก่ภิกษุตลอดทั้งพุทธบริษัททั้งหลาย อยู่ที่ลานธรรม นางกุลธิดาได้หอบลูกน้อยวิ่งตรงเข้าสู่ลานธรรมเลยทีเดียว ฝ่ายนางยักษิณีไม่สามารถผ่านธรณีประตูเข้ามาได้เพราะเทพารักษ์ที่ซุ้มประตูไม่ยอมให้เข้ามา เนื่องจากนางมีแรงอาฆาตจองเวรอยู่ในใจมากเหลือเกิน ฝ่ายนางกุลธิดาอุ้มลูกน้อยมานั่งต่อพระพักตร์ด้วยน้ำตานองหน้าพลางกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! นางยักษิณีจักตามกินลูกน้อยของข้าพระองค์ บัดนี้ลูกน้อยของข้าพระองค์ไม่มีที่พึ่งอื่นอีกแล้ว นอกจากพระพุทธองค์เท่านั้นขอพระองค์จงประทานชีวิตให้แก่ลูกหม่อมฉันด้วยเถิดพระเจ้าข้า ว่าแล้วนางก็วางลูกน้อยพร้อมทั้งผ้าอ้อมลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคที่กำลังทอดพระเนตรดูอยู่ ภิกษุทั้งหลายพร้อมทั้งประชาชนต่างก็มองมาที่นางกุลธิดาและลูกน้อยของนางประหนึ่งว่าถูกสะกดทีเดียว

                สักครู่หนึ่งพระผู้พระภาคจึงตรัสขึ้นว่า ดูก่อนอานนท์! เธอจงออกไปเรียกนางยักษ์เข้ามาข้างในเถิด  เมื่อพระเถระออกไปเรียกนางยักษ์ เทวดาผู้รักษาประตูจึงยอมให้ผ่านเข้ามา และเมื่อนางยักษ์เข้ามานั่งลงทำการอภิวาทพระพุทธองค์แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เธอทั้งสองนั้นถ้าไม่มาพบกับเราตถาคตเสียในวันนี้ก็จักก่อเวรกันไปอีกหลายโกฏิกัปเหมือนกากับนกเค้า เหมือนหมีกับไม้สะคร้อ และเหมือนงูเห่ากับพังพอนฉันนั้น แล้วทรงตรัสว่า บุคคลใดยังผูกพันกันอยู่ด้วยการผูกพันแห่งเวรทำเวรต่อกันและกัน ด้วยอำนาจแห่งการด่าตอบกันไปมา ฆ่าตอบกันไปมา บุคคลนั้นจะไม่มีทางพ้นจากเวรได้เลย หนำซ้ำเขาจะถึงความทุกข์สถานเดียว ด้วยอำนาจแห่งเวรตลอดกาลเป็นนิจทีเดียว : (ปุคคโล  อักโกสนัปปัจจักโกสนัปปหรณัปปฏิปปหรณาทีนัง  วเสนะ  อัญญมัญญัง  กเตนะ  เวสังสัคเคนะ  สังสัฏโฐ.  เวรา  โส  นะ  ปริมุจจตีติ   นิจจกาลัง  เวรวเสนะ  ทุกขะเมวะ  ปาปุณาตีติ.)

                เมื่อตรัสบทนี้แล้วก็ทรงตรัสเป็นพระคาถาว่า   หิ  เวเรนะ  เวรานิ  สัมมันตีธะ  กุทาจนัง  เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร ไม่ว่าในกาลไหน ๆ ดังนี้เป็นต้น ครั้นตรัสพระธรรมเทศนาจบลง นางยักษิณีตั้งอยู่ในพระรัตนตรัยสมาทานศีล ๕ ตลอดชีวิต ฝ่ายนางกุลธิดาตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว

                หลังจากที่อภิวาทพระผู้มีพระภาคทั้งน้ำตาแล้ว นางยักษิณีก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! หม่อมฉันนั้น ในกาลที่ผ่านมา แม้จับสัตว์ฆ่ากินวันละมาก ๆ ก็ยังไม่พออิ่มท้อง แต่บัดนั้นหม่อมฉันสมาทานศีลไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแล้ว จักยังชีวิตให้เป็นไปได้อย่างไรเล่าพระพุทธเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “เธออย่าโศกเศร้าไปเลยนางยักษิณีเอย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ให้เจ้าถือเสียว่านางกุลธิดาเป็นหญิงสหาย ให้เจ้าทั้งสองรักใคร่กัน มองกันด้วยสายตาที่มีแต่ความรักมีแต่ความสงสาร ให้เจ้าช่วยทำการงานในบ้านและนอกบ้าน แล้วนางกุลธิดาจักหุงหาอาหารให้แก่เจ้าเอง เจ้าไม่ต้องห่วงในเรื่องปากท้องดอก และไม่ต้องเข่นฆ่าผู้อื่นเป็นอาหารอีกต่อไป แล้วทรงตรัสต่อไปว่า  : ปรทุกขูปธาเนนะ  โย  อัตตโน  สุขมิจฉติ  เวรสังสัคคสังสัฏโฐ  เวรา  โส  นะ  ปริมุจจตีติ  :  บุคคลใดปรารถนาความสุขเพื่อตน แต่ก่อความทุกข์ให้แก่คนอื่น บุคคลนั้นจะไม่พ้นจากเวรไปได้เลย เพราะเกือกกลั้วอยู่กับการผูกเวร ดังนี้.

                เมื่อนางกุลธิดา นำนางยักษิณีมาไว้ที่บ้านแล้วก็เลี้ยงดูปูเสื่อเป็นอย่างดี ฝ่ายนางยักษิณีก็คิดว่า หญิงสหายของเราเลี้ยงดูเราดีเหลือเกิน ถ้ากระไรเสียเราควรจะหาทางช่วยหญิงสหายของเราบ้าง เมื่อคิดดังนั้นแล้วก็จับยามสามตาดูว่า ปีนี้ฝนจะน้อยหรือว่าฝนจะมาก ถ้ารู้ว่าปีนี้ฝนจะน้อย ก็บอกให้นางกุลธิดาทำนาในที่ลุ่ม ครั้นเห็นว่าปีนี้ฝนจะมาก ปริมาณน้ำมากจนท่วมในที่ลุ่ม ก็จะบอกให้นางกุลธิดาทำนาในที่สูงหรือในที่ดอน นางกุลธิดา เมื่อได้รับคำแนะนำที่ดีเช่นนั้นก็ทำนาได้ข้าวสมบูรณ์ทุกปี ซึ่งผิดกับชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ที่ปีไหนแล้งข้าวกล้าก็จะตายเพราะไม่มีน้ำ ปีไหนฝนมากข้าวก็จะตายเพราะน้ำท่วม จึงพากันนึกสงสัยว่า ทำไมนางกุลธิดาจึงทำนาได้ข้าวทุกปี ทั้งปีน้ำน้อยและปีน้ำมาก

                มหาชนเหล่านั้น จึงพากันถามนางกุลธิดา ถึงเงื่อนไขที่นางกุลธิดาประสบผลสำเร็จจากการทำนานั้น นางก็บอกว่าตนมีสหายผู้หนึ่งซึ่งคอยบอกว่าปีไหนฝนจะแล้งปีไหนฝนจะตกชุก เมื่อได้รับคำแนะนำจากสหายที่แสนดีแล้ว เราก็ได้ทำตามคำแนะนำของหญิงสหายนั้น ชาวบ้านจึงพากันไปขอรับคำแนะนำจากนางยักษิณีนั้นบ้าง หลังจากที่นางกุลธิดาและชาวบ้านได้รับความสำเร็จจากการทำนาแล้ว ก็จะพากันนำข้าวปลาอาหารอันเป็นของโปรดไปให้แก่นางยักษิณีเป็นการตอบแทน และข้าวปลาอาหารที่ชาวบ้านนำไปมอบเป็นปฏิการะแก่นางยักษิณีนี้เอง อันเป็นที่มาของการเลี้ยงผีตาแฮก แรกนาขวัญ และการจัดอาหารให้แก่เจ้ากรรมนายเวรหรือที่เรียกในปัจจุบันนี้ว่า พาเวร ซึ่งต่างจากการทำบุญอุทิศแก่เปรตที่เป็นพระญาติของพระเจ้าพิมพิสาร

                อนึ่งคำว่า “พาเวร” นี้ ก็ปรารภความที่นางยักษิณีและนางกุลธิดาได้จองเวรจองกรรมกันมาหลายร้อยอัตภาพหลายร้อยชาติแล้ว แต่ในชาติที่สุดนี้ทั้งสองได้มาเกิดในยุคที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก เธอทั้งสองมีบุญได้ฟังพระธรรมเทศนาต่อพระพักตร์ของพระองค์ เวรที่มีต่อกันจึงระงับลงได้ ทั้งสองต่างรักใคร่กลมเกลียวกัน ต่างก็อาศัยกันและกัน ปฏิการะคุณที่นางกุลธิดาและชาวบ้านมีต่อนางยักษิณีนั้น แม้ในสมัยนั้นจะยังไม่เรียกว่าพาเวร แต่ในปัจจุบันนี้ชาวบ้านทั่วไปก็เรียกกันว่า พาเวร หรือพาสำหรับบูชาเวรที่ระงับไปนั่นเอง ส่วนคำว่า พา ก็คือถาดหรือสำรับใส่อาหารใส่เครื่องเซ่นนั่นเอง

                หลังจากที่ทุกฝ่ายอยู่ด้วยกันอย่างผาสุกแล้ว นางกุลธิดาก็ปรารภที่จะทำบุญด้วยการถวายสลากภัตแก่พระภิกษุสงฆ์ ๘ ที่ ทุก ๆ ๘ วันหรือทุกวันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ นั่นเอง นางจึงนำความเข้ากราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้นางทำเช่นนั้นได้  ทุกวันกำหนดที่มาถึง พระภิกษุก็จะจับฉลากเวียนกันไปเรื่อย ๆ ครั้งละ ๘ รูป ไม่ให้ซ้ำกันจนกว่าจะเวียนมาบรรจบอีกวาระใหม่ การถวายสลากภัต แก่พระภิกษุสงฆ์ จึงมีมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยประการฉะนี้

                อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่สมควรทำความเข้าใจอยู่อีกนิดหน่อย นั้นก็คือ ทำไมจึงทำบุญสลากภัตในเดือน ๑๐ ทำไมไม่ทำทุก ๆ ๘ วันดังที่กล่าวมา? ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า เราชาวพุทธนำเอาเรื่องสองเรื่องเข้ามารวมเป็นเรื่องเดียวกัน หมายความว่าการทำบุญวันสารทซึ่งตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ นั้น เป็นการทำบุญอุทิศปรารภเปรต ซึ่งเป็นพระญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ชาวบ้านก็เลยพากันทำบุญอุทิศให้แก่ญาติของตนเองบ้าง เพียงแต่ทำให้พิเศษกว่าการทำบุญอุทิศทั่ว ๆ ไปเท่านั้น

                ถ้าทำบุญปรารภเหตุนี้จริง ๆ จะไม่มีสลากภัตเข้ามาเกี่ยวข้องเลย แต่เพราะนำเอาสลากภัตจากเรื่องนางยักษิณีมาปนกับเรื่องเปรตซึ่งเป็นพระญาติของพระเจ้าพิมพิสาร จึงกลายเป็นว่า ทำบุญสารท (ทางอีสานเรียกว่าทำบุญข้าวสาก (หรือศาก) ภาษาเขมรเรียกว่า ทำบุญโดนตา) ในเดือน ๑๐ แต่รูปแบบกลับเป็นการจับฉลากเพื่อสลากภัตซึ่งมีต้นเค้ามาจากนางกุลธิดาในเรื่องนางยักษิณี ชาวพุทธเราจึงรวมเอาคำเหล่านี้คือ : สารท สาก สลากและฉลากเข้าด้วยกัน จึงออกมาเป็นทำบุญสารทบ้าง ทำบุญข้าวสากบ้าง ทำบุญสลากภัตบ้าง โดยแต่ละชื่อถูกต้องหมด เพราะแต่ละชื่อล้วนแต่มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การทำบุญทั้งสิ้น

                ภายหลังมา ก็มีผู้ฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ พระท่านก็เทศน์สั่งสอนไม่ให้งมงายเรื่องการปูนบำเหน็จแก่นางยักษิณีด้วยพาเวรมากนัก ชาวบ้านจึงเปลี่ยนทัศนคติใหม่ (ในบางท้องถิ่น) โดยจะนำเอาผลไม้ที่เก็บเกี่ยวครั้งแรกไปถวายแก่พระสงฆ์เสียก่อน ตัวเองจึงจะสามารถเก็บทาน หรือนำไปขายได้ แต่ผลไม้หัวปีที่สุกเป็นครั้งแรกนั้น จะต้องเก็บไปทำบุญเสียก่อน แม้ประเพณีอย่างนี้ ก็ปรารภนิทานสองเรื่องมารวมกันอีกเช่นกัน คือเรื่องนางยักษิณีกับเรื่องอดีตชาติของพระอัญญาโกณฑัญญะ ที่ท่านบีบเอาน้ำนมข้าวที่ตั้งท้องเป็นครั้งแรกมาทำเป็นข้าวมธุปายาสถวายแก่พระสงฆ์ เมื่อปรารภสองเรื่องนี้ ชาวพุทธจึงเก็บเอาผลไม้หัวปีมาทำบุญเสียก่อน ก่อนที่จะเก็บไปทำอย่างอื่นต่อไป

                หมายเหตุ เรื่องที่เขียนนี้ ได้ขัดเกลาสำนวนไปบ้าง แต่เนื้อหามิได้เปลี่ยนไปยังคงถูกต้องตรงกันหมดทุกอย่าง มีดัดแปลงบ้างนิดหน่อย แต่มิได้บิดเบือน โดยเฉพาะเนื้อเรื่องตอนที่นางยักษิณีเป็นนางวัญญิตถีหรือหญิงหมัน นางกุลธิดาเป็นนางกุมาริกาและสมัยที่เป็นแมว เป็นแม่ไก่ เป็นแม่เสือเหลือง เป็นแม่เนื้อ ก็ได้ขัดเกลานิดหน่อยเพื่อให้สละสลวยยิ่งขึ้น เป็นบรรยากาศเล่านิทานมากขึ้น เช่นแทนที่จะบอกว่า นางแมวได้มาเกิดเป็นแม่เนื้อตามคัมภีร์ ก็บอกว่านางแมวได้มาเกิดเป็นแม่วัวดังนี้เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อที่จะให้สมเหตุสมผล เพราะว่าเมื่อพูดถึงอาหารที่เสือชอบแล้ว ก็เห็นว่าวัวจะมาเป็นอันดับหนึ่ง ดังมีคำพังเพยว่า เล่นหมากเสือกินวัว ดังนี้เป็นต้น

Leave a comment

Your email address will not be published.