ทศพิธราชธรรมกถา
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ
อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ
อิจฺเจเต กุสเล ธมฺเม ฐิเต ปสฺสาหิ อตฺตนิ
ตโต เต ชายเต ปีติ โสมนสฺสญฺจนปฺปกนฺติ ฯ
ณ บัดนี้ อาตมาภาพจะแสดงพระธรรมเทศนาปัจฉิมบททศพิธราชธรรมกถา พรรณนาบทสรุปทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงเจริญพรชนมายุ ครบ ๘๓ พรรษา และเพื่อเพิ่มพูนศรัทธา ประดับปัญญาบารมี ของพสกนิกร ผู้สดับตรับฟังทุกหมู่เหล่า พอสมควรแก่เวลาสืบไป
อันทศพิธราชธรรมนี้ ถือว่าเป็นคุณธรรมที่โบราณกบัณฑิตได้บัญญัติไว้ก่อนสมัยพุทธกาล ซึ่งพระราชามหากษัตริย์ในอดีตได้ทรงถือปฏิบัติมาเป็นพระราชจริยาวัตร แม้บุคคลผู้มิใช่พระเจ้าแผ่นดินก็ควรเจริญรอยตามโดยนำเอาหลักธรรม ๑๐ ประการนี้ มาปฏิบัติในการปกครอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมตามอุดมการณ์แห่งการปกครองยิ่ง ๆ ขึ้นไป ในพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้ มีคุณธรรมที่บัณฑิตเรียกว่า “ทศพิธราชธรรม” อยู่ ๑๐ ประกาศ และใน ๑๐ ประการนี้ จักได้วิสัชนาเป็นลำดับไป
อันว่าคุณสมบัติของนักปกครอง หรือ ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ตั้งแต่พระราชามหากษัตริย์ ตลอดจนนักปกครองทั่วไป ที่เรียกว่า ทศพิธราชธรรม มีทั้งสิ้น ๑๐ ประการ ดังพระบาลีที่ได้อัญเชิญมาเป็นอุเทศเทศนา ณ เบื้องต้นว่า ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ ดังนี้ เป็นอาทิ แปลความว่า
ทานํ การแบ่งปัน การให้ การสงเคราะห์ อนุเคราะห์ ๑
ศีล การรักษากาย วาจา ให้เป็นปกติ ๑
บริจาค การเสียสละประโยชน์สุขส่วนตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ๑
อาชชวะ ความเป็นผู้ซื่อตรง ๑
มัททวะ ความเป็นผู้อ่อนโยน อ่อนน้อม ๑
ตบะ ความเป็นผู้มีความเพียรเพื่อเผาผลาญความชั่ว ๑
อักโกธะ ความเป็นผู้มีเมตตา กรุณา ไม่ฉุนเฉียว เกรี้ยวโกรธ ๑
อวิหิงสา ความเป็นผู้ไม่กดขี่ ข่มเหง เบียดเบียนผู้อื่น ๑
ขันติ ความเป็นผู้อดทน อดกลั้นต่ออุปสรรค ๑
อวิโรธนะ ความเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติไม่ผิดพลาด ๑
ธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นคุณธรรมสำคัญ เป็นหลักในการปกครองประชาชนทุกระดับชั้น หากผู้บริหารทั้งปวงได้น้อมนำเอาคุณธรรมเหล่านี้ไปปฏิบัติ ยังตนให้ตั้งอยู่ในกุศลธรรมเหล่านี้ให้ได้ ปีติและโสมนัสย่อมจักบังเกิดขึ้นแน่นอน ผู้นำบางท่าน ผู้บริหารบางคน ไม่ดำรงมั่นอยู่ในธรรมใช้แต่อำนาจวาสนาบารมีเข้าข่มขี่รังแกประชาชนและผู้ใต้ปกครองเสมอ ๆ จึงก่อให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งในทุก ๆ ที่ ไม่ว่าฝ่ายอาณาจักรหรือศาสนจักรหากมีอำนาจแล้วใช้อำนาจไม่เป็น อำนาจนั้นเองจะกลับกลายมาเป็นเครื่องบั่นทอนให้เสื่อมลง ฉะนั้น บุคคลเมื่อมีอำนาจวาสนา เป็นผู้นำของกลุ่มชนแล้ว ต้องมีต้องได้ให้ดี และเป็นผู้นำก็ต้องเป็นให้ถูกจึงจะสามารถครองใจประชาชนได้ ทำอย่างไรเราทั้งหลายจึงจะสร้างสันติสุขให้เกิดแก่สังคมประเทศชาติได้ อันนี้ก็ด้วยอาศัยท่านผู้ใคร่ในธรรม ต้องช่วยกันปลูกฝังทศพิธราชธรรมทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวแล้วแต่ต้น ให้เกิดมีในตัวตนของทุกคนให้ได้ เช่น
ทาน ผู้ปกครองต้องรู้จักบำเพ็ญตนเป็นผู้ให้ โดยมุ่งปกครองหรือทำงานเพื่อให้เขาได้ มิใช่เพื่อจะเอาจากเขา รู้จักเอาใจใส่ดูแล จัดสรรสงเคราะห์ อนุเคราะห์ ให้ประชาชนหรือผู้ใต้บังคับบัญชาได้รับประโยชน์สุข ได้รับความสะดวกปลอดภัย ตลอดจนให้ความช่วยเหลือแก่ผุ้เดือดร้อนและให้ความสนับสนุนแก่ผู้บำเพ็ญคุณงามความดี เช่น ให้รางวัล ให้เลื่อนยศ เลื่อนฐานะ เพื่อเป็นขวัญเป็นกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ทอดทิ้งดูดายยามทุกข์ยากเข้าลักษณะที่ว่า “ยามปกติก็เรียกใช้ ยามเจ็บไข้ก็รักษา” ยามต้องการคำแนะนำปรึกษา ก็ช่วยให้แสงสว่าง เป็นผู้แนะและนำให้ แนะ คือบอกอุบายให้รู้, นำ นั้นคือทำให้ดูเป็นแบบอย่าง แม้หากผู้น้อยผิดพลาดไปบ้างโดยมิได้ตั้งใจ ผู้ใหญ่ก็ต้องรู้จักให้โอกาสแก้ไข ให้อภัย ให้น้ำใจ นี่เป็นเหตุนำมาซึ่งความสามัคคีในหมู่คณะ เพราะ “ถ้าไม่มีการให้อภัยผิดและไม่คิดที่จะลืมซึ่งความหลัง จะหาสามัคคียากลำบากจัง ความผิดพลั้งย่อมมีทั่วทุกตัวคน” นี่เป็นคุณสมบัติของผู้นำข้อที่ ๑
ศีล ผู้ปกครอง ต้องมีความประพฤติดีงาม รู้จักรักษาความสุจริตรักษาเกียรติคุณประพฤติตนให้เป็นตัวอย่างและเป็นที่เคารพนับถือของประชาชน มิมีข้อที่ผู้ใดจะดูหมิ่นดูแคลนได้ ก่อให้เกิดความไว้วางใจ เลื่อมใสในผู้นำ รวมความว่า การรักษาศีลโดยเฉพาะศีลห้านั้น ความมุ่งหมายก็คือให้รักษาตนเองไว้มิให้เสียหาย เป็นการปิดช่องทางที่จะนำความเสียหายมาสู่ตนได้ถึง ๕ หางด้วยกันคือ
ศีลข้อที่ ๑ ป้องกันทางที่ตนจะเสียหายเพราะความโหดร้าย
ศีลข้อที่ ๒ ป้องกันทางที่ตนจะเสียหายเพราะความมือไว
ศีลข้อที่ ๓ ป้องกันทางที่ตนจะเสียหายเพราะความใจเร็ว
ศีลข้อที่ ๔ ป้องกันทางที่ตนจะเสียหายเพราะความขี้ปด
ศีลข้อที่ ๕ ป้องกันทางที่ตนจะเสียหายเพราะความหมดสติ
หมายความว่า ชีวิตของคฤหัสถ์ทั้งหลายไม่ว่าผู้ใหญ่หรือผู้น้อย มักจะพังทลายไปเพราะ ๕ เรื่องเหล่านี้ คือ
ความโหดร้ายในสันดาน ๑
ความอยากได้ทรัพย์สินของผู้อื่นในทางที่ผิด ๆ ๑
ความฟุ้งซ่านในทางกามเกี่ยวกับเพศตรงข้าม ๑
ความไม่มีสัจจะประจำใจ ๑
ความประมาทขาดสติสัมปัชชัญญะ ๑
รวมเรียกง่าย ๆ ว่า โหดร้าย มือไว ใจเร็ว ขี้ปด หมดสติ แต่ถ้ามีศีลกำกับควบคุมแล้ว กายกรรม วจีกรรมมโนกรรม ก็จักไม่นำความวิบัติเสียหายมาให้แก่ตน ทั้งผู้นำและผู้ตาม นี้เป็นคุณสมบัติของผู้นำข้อที่ ๒
บริจาค การบำเพ็ญกิจด้วยเสียสละ คือสามารถเสียสละความสุขความสำราญ เป็นต้น ตลอดจนชีวิตของตนได้ เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง นักปกครองนั้น หากเป็นแต่ประโยชน์ตน ก็เป็นคนสกปรก ไม่สามารถทำงานเพื่อบ้านเมืองได้กว้างขวาง เพราะคนเห็นแก่ตนนั้น เป็นผู้ที่มีจิตใจคับแคบ ย่อมจักไม่ได้ รับความร่วมมือจากทุก ๆ ฝ่าย และอาจนำความเสียหายมาสู่ประเทศชาติสังคมได้มาก แต่หากผู้นำเป็นนักเสียสละ มีจาคะธรรม ก็ย่อมสามารถที่จะเป็นผู้นำที่บันดาลประโยชน์ให้เกิดได้อย่างไพศาล ฉะนั้น วิญญาณของผู้นำ จึงได้แก่ ความเป็นนักเสียสละ ดังสมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสว่า “พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต พึงสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม” นี่เป็นยอดของนักเสียสละ เป็นคุณสมบัติของผู้นำข้อที่ ๓
อาชชวะ การปฏิบัติภาระโดยซื่อตรง ไม่คด ไม่โกง ไม่กอบ ไม่โกย ไม่เสแสร้งแกล้งมายาหาผลประโยชน์ทางมิชอบ แต่ปฏิบัติกิจโดยสุจริตมีความจริงใจไม่หลอกลวงประชาชนและประเทศชาติ อันว่าความซื่อตรงที่ผู้นำทุกชั้นจะพึงระวังและปฏิบัติให้ได้โดยเคร่งครัดนั้น เช่น
๑. ซื่อตรงต่อบุคคล ได้แก่ ไม่คิดคดทรยศต่อมิตร และผู้มีพระคุณ
๒. ซื่อตรงต่อเวลา ได้แก่ ทำงานตรงกับเวลานาที ที่กำหนดหมายไม่เอาเวลาราชการไปเนประโยชน์ส่วนตน
๓. ซื่อตรงต่อวาจา ได้แก่ รับปากรับคำไว้กับใครอย่างไร ก็พยายามทำให้ได้ตามนั้น
๔. ซื่อตรงต่อหน้าที่ ได้แก่ ตั้งใจทำงานตามที่ได้รับมอบหมายให้เกิดผล ไม่ละทิ้งเสียกลางคัน
๕. ซื่อตรงต่อความดี ได้แก่ รักษาความดีที่เรียกว่า “ธรรม” ไว้มิให้เสียหาย เช่น ความเที่ยงธรรม ความยุติธรรม ความชอบธรรม และความเป็นธรรม
๖. ซื่อตรงต่อตนเอง ได้แก่ การไม่โกหกตนเอง ซื่อสัตว์สุจริตต่ออุดมการณ์ของตน เอาเหตุผลเข้าปรับปรุงกับเหตุการณ์อันเป็นแนวคิดของตน ไม่ฝืนใจประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่ไม่ดีงาม ผิดจากปฏิภาณของตนเองนี่เป็นคุณสมบัติของผู้นำข้อที่ ๔
มัททวะ การแสดงกิริยาอ่อนโยน อ่อนน้อม เป็นคนไม่แข็งกระด้าง ปราศจากมานะทิฏฐิ อัธยาศัยไม่เย่อหยิ่ง หยาบคาย ไม่เป็น “ท้าวพระยาลืมกัน ต้นไม้ลืมดิน ปักษินลืมไพร” นี่เป็นคุณสมบัติของผู้นำข้อที่ ๕
ตบะ การใช้ความเพียรเพื่อเผาผลาญกิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบงำจิต เห็นผิดเป็นชอบ รู้จักระงับยับยั้งชั่งใจได้ ไม่หลงไหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและการปรนเปรอ มีความเป็นอยู่อย่างสม่ำเสมอ มุ่งมั่นในอันที่จะบำเพ็ญเพียรทำกิจในหน้าที่ให้บริบูรณ์ นี่เป็นคุณสมบัติของผู้นำข้อที่ ๖
อักโกธะ รู้จักใช้เหตุผล ไม่เกรี้ยวกราดปราศจากเหตุผล และไม่กระทำการด้วยอำนาจความโกรธ มีเมตตาประจำใจ รู้จักระงับความขุ่นเคืองแห่งจิต และวินิจฉัยความ ตลอดทั้งการกระทำด้วยจิตอันสุขุม รอบคอบเยือกเย็น นี่เป็นคุณสมบัติของผู้นำข้อที่ ๗
อวิหิงสา ความเป็นผู้ไม่หลงระเริงในอำนาจ ไม่บีบคั้นกดขี่ มีความกรุณา ไม่หาเหตุเบียดเบียนลงโทษด้วยอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใด ด้วยอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง นี่เป็นคุณสมบัติของผู้นำข้อที่ ๘
ขันติ ความเป็นผู้อดทนต่องานที่ตรากตรำ ต่อความเหนื่อยยากถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไร ก็ไม่ท้อถอย หมดกำลังใจเสียก่อน ไม่ละทิ้งกิจการงานที่ทำโดยชอบธรรม นี่เป็นคุณสมบัติของผู้นำข้อที่ ๙
อวิโรธนะ ความเป็นผู้ประพฤติมิให้ผิดพลาดจากศีลธรรม กฎหมาย ระเบียบ วินัย ประเพณี อันดีงามของบ้านเมือง ถือประโยชน์สุขความดึงามของรัฐและประชาราษฎร์ เป็นที่ตั้งสิตมั่นในธรรมทั้งส่วนยุติธรรมคือ ความเที่ยงธรรมก็ดี นิติธรรม คือระเบียบแบบแผนหลักการปกครองตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามดังกล่าวแล้วก็ดี ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป นี่เป็นคุณสมบัติของผู้นำข้อสุดท้าย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ทรงเป็นจักรพรรดิแห่งธรรม ทรงเป็นยอดนักบริหาร และทรงเป็นกษัติริย์นักพัฒนายากที่จะมีผู้ใดเสมอเหมือน เพราะพระองค์ทรงมีพระบารมีปกเกล้า ๓ ประการ คือ พระปรีชาบารมี พระเมตตาบารมี พระขันติบารมี ทรงยิ่งด้วยพระอัจฉริยภาพ พระวิริยภาพ และพระบรมเดชานุภาพ
ที่ว่าพระองค์ทรงเป็นกษัติริย์นักพัฒนา อาทิ.
๑. ทรงพัฒนาคุณภาพชีวิต ทรงมุ่งให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น
๒. ทรงพัฒนาคุณภาพจิต ทรงมุ่งให้ศึกษาธรรมและประพฤติธรรม
๓. ทรงพัฒนาคุณธรรม ทรงมุ่งให้เมตตา ปรารถนาสุขต่อกัน
๔. ทรงพัฒนาความเป็นอยู่ ทรงมุ่งให้อยู่ดีกินดี ไม่มีโรคาพยาธิเบียดเบียน
แนวทางที่ทรงพัฒนา พระองค์ทรงพัฒนาโดยใช้หลัก ๔ ป. คือ….
๑. ปลูก ทรงมุ่งให้ทุกคนมีความรักความศรัทธาในหน้าที่การงานในสถาบันทั้ง ๓ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้เกิดขึ้น
๒. ปลด ทรงมุ่งเปลื้องความทุกข์ด้วยการเสด็จเข้าไปทรงแก้ปัญหาไห้
๓. ปรับ ทรงปรับความเข้าใจมิให้ขัดแย้งอันเป็นเหตุให้แตกแยกร้าวฉาน ทรงทำ “ชาวเขา” ให้เป็น “ชาวเรา” ให้มีไมตรีจิตมิตรภาพต่อกันและกัน ให้รักกันเหมือนพี่ ดีกันเหมือนน้อง ปรองดอกกันเสมือนญาติ
๔. เปลี่ยน ทรงพัฒนาจากล้าหลังให้เป็นก้าวหน้า ร้อนให้เป็นเย็น อดให้เป็นอิ่ม ไพร่ฟ้าที่หน้าเศร้า ก็กลับเป็นไพร่ฟ้าหน้าใส
สรุปเหตุผลประการเดียวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งมั่นบำเพ็ญพระราชภารกิจอย่างตรากตรำเหน็ดเหนื่อยทั้งพระวรกายและพระราชหฤทัยอยู่ตลอดเวลา ๖๐ กว่าปี เพื่อทรงพระมหากรุณาช่วยแก้ไขปัญหาพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่ของพสกนิกรที่ยากไร้ในชนบท แม้แต่ชาวต่างประเทศก็นึกไม่ถึงว่า ในโลกปัจจุบันยังมีพระมหากษัตริย์อยู่พระองค์หนึ่ง ผู้ทรงอุทิศพรองค์ทรางงานหนักถึงเพียงนี้ เหตุผลของพองค์ท่านนั้นคือ เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชนทุกรูปทุกนาม สมดังพระราชปณิธานที่ทรงประกาศเป็นปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชโอรส พระราชธิดา พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ก็ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินในทศพิธราชธรรม เพื่อประโยชน์แห่งประชาชนทุกประการ ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และพสกนิกรชาวไทย ซึ่งสนิทแน่นแฟ้นมาแต่โบราณกาล จึงดำรงอยู่และทวียิ่งขึ้น ฝ่ายประชาชนชาวไทยตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของความจงรักภักดีศรัทธาเชื่อมั่นด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นพ้นประมาณ ฝ่ายพระมหากษัตริย์ตั้งมั่นอยู่ในพระมหากรุณาธิคุณอันไม่มีที่สิ้นสุด้ดวยน้ำพระราชหฤทัย และพระราชจริยาวัตรประกอบไปด้วยทศพิธราชธรรมและพระราชธรรมจริยาทั้งปวง ดังที่ได้วิสัชชนา จึงนับเป็นบุญยิ่งของประชาชนชาวไทยที่ได้มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงดูและสอดส่องสุขทุกข์ส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อพระราชประสงค์ยิ่งใหญ่ คือเพื่อความอยู่ดีกินดีของพสกนิกรชาวไทยเป็นสำคัญ
เมื่อนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่ออาณาประชาราษฎร์ ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ นึกถึงความเจริญพัมนาก้าวหน้าของประเทศชาติ และความรื่นเริงอันเป็นนิมติหมายแห่งความสุขที่จะเกิดมีขึ้นในแผ่นดินไทย จากพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปีที่ผ่านมา พสกนิกรชาวไทยทั้งมวลล้วนรำลึกอยู่แต่ว่า นับเป็นบุญของตน ที่ได้มีโอกาสเกิดมาบนผืนแผ่นดินไทย ในรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ผู้ทรงครองแผ่นดินโดยธรรมพระองค์นี้ สมด้วยบทกวีที่ว่า…
หกสิบปีที่พองค์ทรงครองราช
หกสิบปีประเทศชาติเฉลิมศรี
หกสิบปีสุขไพร่ฟ้าประชาชี
หกสิบปี ธ ทรงธรรมนำแผ่นดิน
ทั่วเหนือใต้ออกตกพสกซ้อง
เฉลิมฉลองศุภวารกันถ้วนถิ่น
ถวายพระพรล้นเกล้า ฯ ภูบดินทร์
จวบชีวินจะจงรักภักดิ์ชั่วกาล ฯ
เทสนาวสาเน ในอวสานกาลเป็นที่สุดแห่งพระธรรมเทศนานี้อาตมภาพขอเจริญพร เชิญชวนเหล่าพสกนิกร ผู้สดับรับฟังพระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติทุกท่าน จงตั้งกัลยาณจิตถวายพระพรชัยมงคล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ให้ทรงมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญ สมบูรณ์ด้วยพระพลานามัย ทรงพระเจริญด้วยพระราชอิสริยยศ ปรากฎเดชานุภาพแผ่ไพศาล เสด็จสถิตยืนนาน ในพระบรมมไหศวรรย์ราชสมบัติ ปกครอง รัฐสีมามณฑลประเทศไทย ให้เจริญวิวัฒนาสถาพร สมพระราชประสงค์ทุกประการ
อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ อุตฺตมํ ธมฺมมชฺฌคา
มหาสงฺฆํ ปโพเธสิ อิจฺเจตํ รตนตฺตยํ
ด้วยเดชานุภาพพระศรีรัตนตรัยดลบันดาล ขออุปัทวันตรายและอุปสรรคศัตรูทั้งหลาย จงอย่างบังเกิดถูกต้องพ้องพานประเทศไทยในกาลไหน ๆ จงบำราศไกลด้วยประการทั้งปวง ขอความเป็นผู้ไม่มีโรค ความสุขสำราญ ความเป็นผุ้มีอายุยืนนาน ทั้งความสวัสดีในที่ทุกสถานจงบังเกิดมีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงอภิบาลปกป้องคุ้มครองประเทศไทยนี้กับทั้งสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พร้อมทั้งรพระบรมวงศานุวงศ์
สิทฺธมตฺถุ สิทฺธมตฺถุ สิทฺธมตฺถุ อิทํ ผลํ
เอตสฺมึ รตนตฺตยสฺมึ สมฺปสาทนเจตโส
ขอผลที่กล่าวนี้ จงเป็นผลสัมฤทธิ์ จงเป็นผลสัมฤทธิ์ จงเป็นผลสัมฤทธิ์ แต่สมเด็จบรมบพิตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีพระมนัสเลื่อมใสในพระรัตนตรัยนี้ สมพระราชประสงค์จงทุกประการ
แสดงพระธรรมเทศนาในปัจฉิมบททศพิธราชธรรมกถา สมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ
*แสดงโดย ดร.พระมหาถนัด อตฺถจารี
เลขาธิการสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา
ประธานอำนวยการวัดไทยกรุงวอชิงตัน,ดี.ซี.
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ณ อุโบสถพระพุทธมงคลวิมลดีซี สหรัฐอเมริกา