กฐิน : กาลทาน ไม่เสื่อมคลายจากศรัทธาของชาวพุทธ

 

 

กฐิน กาลทานที่ผูกพันธ์ศรัทธาของชาวพุทธอย่างไม่เสื่อมคลาย

            ในช่วงออกพรรษา เป็นเทศกาลทอดกฐินตามพระวินัยนิยมบรมพุทธานุญาต วัดไทยแต่ละวัดไม่ว่าจะในประเทศไทย หรือ ในต่างประเทศ ญาติโยมต่างให้ความสำคัญอนุเคราะห์พระสงฆ์ส่งเสริมวินัยสงฆ์ในการรับผ้ากฐินและรับอานิสงส์กฐินตามพระบรมพุทธานุญาต

          วัดไทยกรุงวอชิงตัน,ดี.ซี.ในปีนี้มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาถ้วยไตรมาศ ๑๐ รูป และได้รับผ้ากฐินสมัคคี ของคณะพยาบาลบัลติมอร์ และญาติธรรมทั่วสหรัฐอเมริกา ทอดถวายเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๕๓ นำความปลื่มปีติในบุญมายังพุทธศานิกชนทั่วหน้า

 

ผู้ประสงค์จะทอดกฐินควรจะทำอย่างไร ?

          พุทธศาสนิกชนทั่วไปย่อมถือกันว่า การทำบุญทอด กฐินเป็นกุศลแรง เพราะเป็นกาลทาน ทำได้เพียงปีละ ๑ ครั้ง และต้องทำในกำหนด     เวลาที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ดังนั้น ถ้ามีความเลื่อมใสใคร่จะทอด กฐินบ้างแล้ว พึงปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

          จองกฐิน เมื่อจะไปจองกฐิน ณ วัดใด พอเข้าพรรษาแล้ว พึงไปมนัสการ สมภารเจ้าวัดนั้น กราบเรียนแก่ท่านว่าตนมีความประสงค์จะขอทอดกฐิน แล้วเขียนหนังสือปิดประกาศไว้ ณ วัดนั้น เพื่อให้รู้ทั่ว ๆ กัน การที่ต้องไปจองก่อนแต่เนิ่น ๆ ก็เพื่อให้ได้ ทอดวัดที่ตนต้องการ หากมิเช่นนั้นอาจมีผู้อื่นไปจองก่อน นี้กล่าวสำหรับวัดราษฎร์ ซึ่งราษฎรมีสิทธิจองได้ทุกวัด แต่ถ้าวัดนั้นเป็นวัดหลวง อันมีธรรมเนียมว่าต้องได้รับกฐินหลวงแล้ว ทายกนั้นครั้นกราบเรียนเจ้าอาวาสท่านแล้ว ต้องทำ หนังสือยื่นต่อกองสังฆการี กรมการศาสนา กระทรวง ศึกษาธิการ ขอเป็นกฐินพระราชทาน ครั้นคำอนุญาตตกไป ถึงแล้ว จึงจะจองได้เตรียมการ ครั้นจองกฐินเรียบร้อยแล้ว เมื่อออกพรรษาแล้ว จะทอดกฐินในวันใดก็กำหนดให้แน่ นอนแล้วกราบเรียนให้เจ้าวัดท่านทราบวันกำหนดนั้น ถ้า เป็นอย่างชนบท สมภารเจ้าวัดก็บอกติดต่อกับชาวบ้านว่า วันนั้น วันนี้เป็นวันทอดกฐิน ให้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดหา อาหารไว้เลี้ยงพระ และเลี้ยงผู้มาในการกฐิน

          ครั้นกำหนดวันทอดกฐินแล้ว ก็เตรียมจัดหาเครื่องผ้ากฐิน คือไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่น ๆ ตามแต่มี ศรัทธามากน้อย (ถ้าจัดเต็มที่มักมี ๓ ไตร คือ องค์ครอง ๑ ไตร คู่สวดองค์ละ ๑ ไตร)

วันงาน พิธีทอดกฐินเป็นบุญใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น โดยมากจึงจัดงานเป็น ๒ วัน วันต้นตั้งองค์พระกฐินที่บ้านของ เจ้าภาพก็ได้ จะไปตั้งที่วัดก็ได้ กลางคืนมีการมหรสพครึกครื้น สนุกสนาน ญาติพี่น้องและมิตรสหายก็มักจะมาร่วมอนุโมทนา รุ่งขึ้นเป็นที่วันทอด ถ้าไปทางบกก็มีแห่ทางขบวนรถ หรือเดินขบวนกันไป มีแตรวง หรืออื่น ๆ  เป็นการครึกครื้น ถ้าไปทางเรือก็มีแห่ทางขบวนเรือสนุกสนาน โดยมากมักแห่ไปตอนเช้า และเลี้ยงพระเพล การทอดกฐินจะทอดในตอนเช้านั้นก็ได้ ทอดเพลแล้วก็ได้สุดแล้วแต่สะดวก การเลี้ยงพระถ้าเป็นอย่างในชนบท ชาวบ้านจัดภัตตาหารเลี้ยงด้วย เจ้าของงานกฐินก็จัดไปด้วย อาหารมากมายเหลือ เฟือ แม้ข้อนี้ก็สุดแต่กาลเทศะแห่งท้องถิ่น อนึ่ง ถ้าตั้งองค์กฐินในวัดที่จะทอดนั้น เช่น ในชนบทตอนเย็นก็แห่องค์พระกฐินไปตั้งที่วัด กลางคืนมีการฉลอง รุ่งขึ้นเลี้ยงพระเช้าแล้วทอดกฐิน ถวายภัตตาหารเพล

การถวายผ้ากฐิน

          การถวายผ้ากฐินนั้น คือเมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อม กันแล้ว เจ้าภาพอุ้มผ้ากฐินนั่งหันหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน ถ้าเป็นกฐินสามัคคีก็มักเอาด้วยสายสิญจน์โยงผ้ากฐิน เมื่อจับได้ทั่วถึงกันแล้วหัวหน้านำว่าคำถวาย ครั้นจบแล้ว พระสงฆ์รับว่า สาธุ เจ้าภาพก็ประเคนผ้าไตรกฐินแก่ภิกษุผู้เถระ ครั้นแล้วประเคนเครื่องบริขารอื่น ๆ เสร็จแล้ว พระสงฆ์ก็ทำพิธีมอบผ้าให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระเถระมีจีวรเก่า รู้ธรรมวินัย ครั้นเสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำรับพร ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทอดกฐินเพียงนี้

พิธีกรานกฐิน

          พิธีกรานกฐินเป็นพิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะคือ ภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินนั้น นำผ้ากฐินไปทำเป็นไตรจีวรผืน ใดผืนหนึ่ง เย็บ ย้อม แห้ง เรียบร้อยดีแล้ว เคาะระฆัง ประชุมกันในโรงอุโบสถ ภิกษุผู้รับผ้ากฐิน สวดถอนผ้าเก่า อธิษฐานผ้าใหม่ที่ตนได้รับนั้นเข้าชุดเป็นไตรจีวร  พระคู่สวดประกาศญัตติ ถวายผ้าแก่พระผู้ครองกฐิน และประกอบพิธีอนุโมทนากฐินเพื่อรับอานิสงส์ของพระสงฆ์ในวัด จบแล้วก็เป็นเสร็จพิธีการกรานกฐิน

อานิสงส์กฐินสำหรับพระ

          ในพระวินัยระบุ อานิสงส์กฐินไว้ ๕ คือ

          ๑. เข้าบ้านได้โดย มิต้องบอกลาภิกษุด้วยกัน

          ๒. เอาไตรจีวรไป โดยไม่ครบสำรับได้

          ๓. ฉันอาหารเป็น คณะโภชน์ได้

          ๔. เก็บจีวรไว้ได้ ตามปรารถนา

          ๕. ลาภที่เกิดขึ้นเป็นของเธอผู้จำพรรษาในวัดนั้น

อานิสงส์กฐินสำหรับผู้ทอด

          โดยทั่วไปผู้เขียนเองและแม้ผู้รู้บางท่านก็ยังไม่เคยพบ ในพระบาลีที่ระบุไว้โดยตรง แต่ว่าการทอดกฐินเป็นกาลทาน ปีหนึ่งทำได้ครั้งเดียว วัดหนึ่งทำได้ครั้งเดียวในปีหนึ่ง ๆ ต้องทำภายในกำหนดเวลา และผู้ทอดก็ต้องตระเตรียมจัดทำเป็นงานใหญ่ ต้องมีผู้ช่วยเหลือหลายคน จึงนิยมกันว่าเป็น พิธีบุญที่อานิสงส์แรง น่าคิดอีกทางหนึ่งว่า พิธีเช่นนี้ได้ทั้ง โภคสมบัติเพราะเราเองบริจาค ได้ทั่งบริวารสมบัติเพราะได้ บอกบุญแก่ญาติมิตรให้มาร่วมการกุศล กาลทานเช่นนี้ เรียกว่า ทานทางพระวินัย

            ในการทอดกฐินนี้ ยังมีกฐินและข้อพิเศษที่ควรนำ มากล่าวไว้ด้วย คือ ๑. จุลกฐิน ๒. ธงจระเข้

            ๑. จุลกฐิน เป็นกฐินพิเศษอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า จุลกฐิน เป็นงานที่มีพิธีมาก ถือกันมาแต่โบราณว่ามีอานิสงส์มากยิ่งนัก วิธีทำนั้นคือเก็บฝ้ายมากรอเป็นด้าย และทอให้แล้วเสร็จ เป็นผืนผ้าในวันเดียวกัน และนำไปทอดในวันนั้น กฐินชนิดนี้ ต้องทำแข่งกับเวลา มีผู้ทำหลายคน แบ่งกันเป็นหน้าที่ ๆ ไป ในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยนิยมทำกันแล้ว

          “วิธีทอดจุลกฐินนี้มีปรากฏในหนังสือเรื่อง คำให้การชาวกรุงเก่า ว่า บางทีเป็นของหลวง ทำในวันกลางเดือน ๑๒ คือ ถ้าสืบรู้ว่าวัดไหนยังไม่ได้รับกฐิน ถึงวันกลางเดือน ๑๒ อันเป็นที่สุดของพระบรมพุทธานุญาตซึ่งพระสงฆ์จะรับกฐินได้ในปีนั้น จึงทำผ้าจุลกฐินไปทอด มูลเหตุของจุลกฐิน คงเกิดแต่จะทอดในวันที่สุดเช่นนี้ จึงต้องรีบร้อนขวนขวาย ทำให้ทัน เห็นจะเป็นประเพณีมีมาเก่าแก่ เพราะถ้าเป็นชั้นหลังก็จะเที่ยวหาซื้อผ้าไปทอดได้ หาพักต้องทอใหม่ไม่” (จาก วิธีทำบุญ ฉบับหอสมุด หน้า ๑๑๙)

            ๒. ธงจระเข้ ปัญหาที่ว่าเพราะเหตุไรจึงมีธงจระเข้ ยกขึ้นในวัดที่ทอดกฐินแล้ว ยังไม่ปรากฏหลักฐาน และข้อวิจารณ์อันสมบูรณ์โดยมิต้องสงสัย เท่าที่รู้กันมี ๒ มติ คือ

          ๒.๑ ในโบราณสมัย การจะเดินทางต้องอาศัยดาวช่วยประกอบ เหมือนเช่นการยกทัพ เคลื่อนขบวน ในตอนจวนจะสว่างจะต้องอาศัยดาวจระเข้นี้ เพราะดาวจระเข้นี้ขึ้นในเวลาจวนจะสว่าง การทอดกฐินมี ภาระมาก บางทีต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ฉะนั้น การดูเวลาจึงต้องอาศัยดาว พอดาวจระเข้ขึ้น ก็เคลื่อนองค์กฐินไปสว่างเอาที่วัดพอดี และต่อมาก็คงมีผู้คิดทำธงในงานกฐิน ในชั้นต้นก็คงทำธงทิวประดับประดาให้สวยงาม ทั้งที่องค์กฐิน ทั้งที่บริเวณวัด และภายหลังคงหวังจะให้เป็น เครื่องหมายเนื่องด้วยการกฐิน ดังนั้น จึงคิดทำธงรูปจระเข้ เสมือนประกาศให้รู้ว่าทอดกฐินแล้ว

          ๒.๒ อีกมติหนึ่งเล่าเป็นนิทานโบราณว่า ในการแห่กฐินไปทางเรือของอุบาสกผู้หนึ่ง มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญ จึงอุตส่าห์ว่ายตามเรือไปด้วย แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดกำลังว่ายตามต่อไปอีกไม่ไหว จึงร้องบอกอุบาสกว่า เหนื่อยนักแล้ว ไม่สามารถจะว่ายตามไปร่วมกองการกุศล วานท่านเมตตา ช่วยเขียนรูปข้าพเจ้า เพื่อเป็นสักขีพยานว่าได้ไปร่วมการกุศลด้วยเถิด อุบาสกผู้นั้นจึงได้เขียนรูปจระเข้ยกเป็นธง ขึ้นในวัดเป็นปฐม และสืบเนื่องมาจนบัดนี้

 

Leave a comment

Your email address will not be published.