ความเป็นมาของพระไตรปิฎก

 

ความเป็นมาในการสร้างพระไตรปิฏก
โดย ดร.พระมหาถนัด อตฺถจารี

จำเดิมแต่การปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ๓ เดือน ได้มีการประชุมกันของพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการรวบรวม และจัดหมวดหมู่แห่งพุทธพจน์ ซึ่งเรียกว่าการทำสังคายนาขึ้นครั้งแรก กาลต่ออีกประมาณ ๑๐๐ ปี ได้มีการประชุมสงฆ์ครั้งใหญ่การร้อยกรองพระธรรมวินัยอีกเป็นการทำสังคายนาครั้งที่ ๒ ส่วนการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ได้จัดขึ้น ณ วัดอโศการาม เมืองปาฏลีบุตร โดยพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ให้การอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา ได้มีการร้อยกรองพระธรรมวินัย เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์แห่งพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากนั้นพระองค์ได้ส่งพระธรรมทูตออกไปสู่นานาประเทศรวมทั้งสิ้น 9 สายด้วยกัน
หนึ่งใน 9 สายนั้นได้ส่งพระเถระ 2 รูป คือ พระโสณเถระ และพระอุตตรเถระ ไปยังดินแดนสุวรรณภูมิ หรือดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน อันได้แก่ ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศเขมร ประเทศเวียตนาม เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้ยอมรับนับถือเอาพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท เป็นแนวปฏิบัติตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ในการส่งพระธรรมทูตออกมาสู่ดินแดนต่าง ๆเพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ซึ่งยังคงอยู่ในรูปของมุขปาฐะ คือการสอนด้วยการทรงจำ มีการสาธยาย และแสดงธรรมปากเปล่า สืบต่อกันมา เมื่อกาลเวลาได้ล่วงเลยไปจนมีการประดิษฐ์อักษรขึ้นสำหรับเขียนและอ่าน แทนภาษาพูด และได้มีการจารึกลงบนแผ่นหิน หลักศิลาจารึก และจารลงในใบลาน ตลอดถึงการพิมพ์ลงในแผ่นกระดาษในเวลาต่อมา
การจารึกคำสอนในทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวามนั้น ได้ยึดภาษาบาลีเป็นหลัก และได้แปลออกสู่ภาษาต่าง ๆ เช่นภาษาสิงหล ภาษาพม่า ภาษาไทย ภาษาลาว ภาษาขอม และภาษาอื่น ๆ ที่ใช้อยู่ในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท
พระพุทธศาสนาได้เดินทางเข้าสู่ดินแดนแห่งประเทศสยามหรือประเทศไทย ในอดีตนั้นเริ่มตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้มีการรับเอาพระพุทธศาสนาจากเมืองนครศรีธรรมราช ขึ้นไปประดิษฐานที่เมืองสุโขทัย และเมืองศรีสัชนาลัย ได้มีการสร้างวัดถวายพระสงฆ์ ๒ คณะ คือ คณะคามวาสี สำหรับพระสงฆ์ที่ต้องการศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ในเขตบ้านเมือง และอีกคณะ คือ อรัญวาสี สำหรับพระสงฆ์ที่ต้องการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน คือเป็นวัดป่า
พระเจ้าอยู่หัวมีพ่อขุนรามคำแหงเป็นต้น ได้ให้การอุปถัมภ์บำรุงด้วยดีเสมอมา บ้านเมืองอยู่ในความสงบร่มเย็นเพราะอาศัยพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จากนั้นเมื่ออาณาจักรสุโขทัย ได้เสื่อมสลายลง อาณาจักรศรีอยุธยาได้รุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ ได้ยอมรับนับถือเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ตั้งแต่สมัยพระนเรศวรมหาราชทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนมา และในหลายรัชกาลของพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทั้งหลายได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไว้เป็นอย่างดี สร้างวัดวาอารามเจริญถึงที่สุด ให้การอุปถัมภ์พระภิกษุสงฆ์ให้ศึกษาพระธรรมคำสอนให้แตกฉานทั้งปริยัติและปฏิบัติ มีความเจริญมั่นคงสืบมา
กาลเวลาได้ล่วงเลยมาหลายร้อยปีมีการเสื่อมอำนาจลง จนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ ได้ถูกข้าศึกเผาทำลายวัดวาอาราม พระธรรมคำสอนในพระไตรปิฎกถูกทำลายเสียหายมาก มีพระมหากษัตริย์ผู้กล้าหาญ คือพระเจ้าตากสินมหาราชได้กู้เอกราชกลับคืนมาแล้วสร้างเมืองหลวงใหม่ คือ กรุงธนบุรี ถึงแม้พระองค์จะครองราชย์ในระยะสั้น แต่พระองค์ก็ทุ่มเทให้กับการรักษาพระพุทธศาสนาไว้ด้วยเลือดเนื้อ สมดั่งบทประพันธ์ที่พระองค์จารึกไว้ว่า “
อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก
ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา
ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา
แด่พระศาสดา สมณะ พระพุทธโคดม
ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี
สมณะพราหมณ์ชี ปฏิบัติ ให้พอสม
เจริญสมถะ วิปัสสนา พ่อชื่นชม
ถวายบังคม รอยบาท พระศาสดา
คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า
ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา
พุทธศาสนา อยู่ยง คู่องค์กษัตรา
พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กัน.
จากนั้นมาไม่นานได้มีการสร้างเมืองหลวงใหม่ คือสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในยุคที่มีการสร้างบ้านแปลงเมืองใหม่นี้ พระบรมกษัตริยาธิราชเจ้าทั้งหลายได้เล็งเห็นว่าหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนานั้น ได้กระจัดกระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ อันเนื่องจากภัยสงคราม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รับสั่งให้มีการรวบรวมตำรับตำราทางพระพุทธศาสนา ทรงมอบให้พระมหาเถระผู้ทรงภูมิธรรมภูมิความรู้ ตรวจชำระพระไตรปิฎกหรือเรียกว่าการทำสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น การบันทึกข้อความที่ได้ชำระแก้ไขปรับปรุงและร้อยกรองใหม่ขึ้นมานั้นเรียกว่าการทำสังคายนาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้จัดทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยความเสียสละ อดทนและต้องการที่จะให้พระธรรมคำสอนอยู่คู่กับพนกนิกรไทย สมดั่งคำปณิธาร ที่ตรัสไว้เป็นอมตบทว่า “ ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา ป้องกันขอบขัณฑเสมา รักษาประชาชน และมนตรี”
และกาลต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้เคยผนวชเป็นพระภิกษุ ศึกษาภาษาบาลีจนมีความชำนาญในเรื่องของพุทธปรัชญาและภาษาศาสตร์โดยเฉพาะภาษาบาลีอันเป็นภาษาจารึกคำสอนในทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี มีบทสวดมนต์หลายบทที่พระองค์ได้ทรงประพันธ์ ซึ่งได้ถ่ายทอดมาถึงพระราชโอรสซึ่งได้ขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อจากพระองค์ นั่นคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ได้เอาพระทัยใส่ในกิจการของพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นด้านการทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์ และการสร้างวัดถวายไว้ในรัชกาลนี้เป็นจำนวนมาก ตลอดถึงการส่งเสริมด้านการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและแผนกบาลี โดยพระองค์ได้มอบให้พระอนุชาธิราช คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาพระปรมานุชิตชิโนรส ทั้ง 2 พระองค์นี้ได้ประพันธ์ตำราวิชาการในทางพระพุทธศาสนาไว้เป็นจำนวนมาก
รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ ( พ.ศ. ๒๔๓๖) เป็นปีที่กรุงสยามประสบวิกฤตการณ์ร้ายแรงด้านความมั่นคงแห่งชาติ แต่เป็นที่อัศจรรย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงประสบผลสำเร็จในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิอักษรสยาม ชุด ๓๐ เล่ม เป็นครั้งแรกเพื่อเป็นธัมมทาน เนื่องในการฉลองครองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปีในปี โดยได้พระราชทานพระไตรปิฎกชุดนี้แก่พระอารามต่าง ๆ ประมาณ ๕๐๐ สำรับ ทั่วพระราชอาณาจักร และต่อมาได้พระราชทานแก่สถาบันต่าง ๆ อีกไม่น้อยกว่า ๒๖๐ สถาบันในนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งในปัจจุบันถือว่าเป็นการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิเป็นชุดแรก ดังนั้นการพระราชทานพระไตรปิฎกอักษรสยามแก่ชาวโลกจึงเป็นการเผยแผ่พระพุทธพจน์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาเถรวาท
ตกมาถึงกาลสมัยนี้ ในยุคที่มีการพิมพ์หนังสือด้วยระบบดิจิตอล และการรวบรวมตำรับตำรามีความเจริญรุ่งเรือง มูลนิธิสนทนาธัมม์นำสุข โดยมีท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาก ได้จัดพิมพ์หนังสือพระไตรปิฏกฉบับ จ.ป.ร. อักษรโรมัน เพื่อมอบให้แก่ประเทศต่าง ๆ มีประเทศสหรัฐ อเมริกา เป็นต้น ที่จะมีการมอบให้กับห้องสมุดรัฐสภาประเทศสหรัฐอเมริกา ในปีพุทธศักราช 2554
เพื่อเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของพระบรมอัยยกาธิราชพระปิยมหาราช หม่อมเจ้า(หญิง) วุฒิเฉลิม วุฒิชัย ซึ่งเป็นพระราชนัดดา ในพระบาทสมเด็จปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ได้ทรงมีพระราชศรัทธาจัดสร้างพระไตรปิฎกฉบับ จ.ป.ร. ภาษาบาลี อักษรสยาม ถวายไว้ในพระบวรพระพุทธศาสนา เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระอัยยกาธิราชเจ้า พระปิยมหาราช ในวโรกาสวันสวรรคตครบ 100 ปี จึงมีหมายกำหนดการอัญเชิญพระไตรปิฎกมาถวายแด่วัดไทยกรุงวอชิงตัน, ดี. ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกาในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เป็นวันปิยมหาราช
ดังนั้น เพื่อเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลส่งเสริมพระราชศรัทธา สร้างมหากุศลเป็นธรรมเจดีย์ไว้ใน พระพุทธศาสนาในครั้งนี้ จึงขอเชิญท่านพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า ชมรม สมาคม ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ที่มีศรัทธาในบวรพุทธศาสนาร่วมบุญกุศลด้วยการบริจาคทรัพย์ในการสร้างพระไตรปิฎก จ.ป.ร. ฉบับภาษาบาลีอักษรสยาม ร่วมกับหม่อมเจ้า(หญิง) วุฒิเฉลิม วุฒิชัย ซึ่งเป็นพระประยูรญาติที่ใกล้ชิดเพียงพระองค์เดียวในต่างประเทศ ในครั้งนี้โดยพร้อมเพรียงกัน
สปอร์ต เชิญชวนทำบุญ
ขอเชิญร่วมบำเพ็ญบุญมหากุศลครั้งยิ่งใหญ่ ในการสร้างพระไตรปิฎก จ.ป.ร. ฉบับภาษาบาลีอักษรสยาม เพื่อเสริมพระราชศรัทธาร่วมกับหม่อมเจ้าหญิงวุฒิเฉลิม วุฒิชัย พระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช เนื่องในวโรกาสวันสวรรคตครบ 100 ปี ในวันที่ 23 ตุลาคม พุทธศักราช 2553 ถวาย ณ วัดไทยกรุงวอชิงตัน ดี ซี เลขที่ 13440 ถนน Layhill, Silver Sring, Maryland ประเทศสหรัฐอเมริกา
ด้วยกุศลจริยา และประโยชน์ประการใดที่สำเร็จจากการพิมพ์พระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม ฉบับอนุรักษ์ชุดนี้ ขอน้อมเกล้าถวายเป็นพุทธบูชา และอุทิศถวายเป็นเครื่องราชสักการะสูงสุด แด่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ผู้เป็นพุทธมามกะทุกพระองค์ ผู้อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา อนุรักษ์พระไตรปิฎกปาฬิ สืบทอดมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

Dhamma for Life : http://www.handyinverginia.blogspot.com/

Leave a comment

Your email address will not be published.