เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนพร้อมด้วยพระธรรมทูตรูปอื่น ๆที่เป็นกรรมการสมัชชาสงฆ์ไทยฯ ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมสำนักปฏิบัติธรรมของภิกษุณีฝ่ายเถรวาท(อเมริกัน) ซึ่งได้รับการอุปสมบทวิธีตามแนวทางปฏิบัติของพระสงฆ์ชาวศรีลังกา ที่ให้อนุญาตการบวชจากสงฆ์สองฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยนิยมบรมพุทธานุญาตไว้ แต่จะถูกจะผิดอย่างไร จะไม่ขอวิจารณ์ในแง่ของการบวชภิกษุณีในยุคปัจจุบัน
แต่จะขอกล่าวถึงสิทธิสตรี หรือ ทางเลือกของผู้หญิงในการประพฤติปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะในรูปของนักบวชหญิง แล้วพากันไปพักอาศัยป่าเป็นที่ปฏิบัติธรรมในช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้ ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะปลีกวิเวกออกจากสังคมเมืองที่มีความวุ่นวาย สับสน เกลื่อนกล่นด้วยผู้คนสารพัด
คณะนักบวชหญิง(ภิกษุณี)กลุ่มนี้นำโดยพระภิกษุณีตถาคตโลกะ เป็นสตรีชาวอเมริกัน ซึ่งเท่าที่สอบถามเธอมีความมุ่งหวังตั้งใจที่จะออกประพฤติธรรม คือ อยากบวชตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่นอายุ ๑๘-๑๙ ปี แล้ว และในที่สุดก็ได้ออกแสดงหาความจริงทางด้าน Spiritual development ตั้งแต่บรรลุนิติภาวะเป็นต้นมา ได้ไปศึกษาปฏิบัติธรรมในสำนักต่าง ๆทางพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายมหายาน และฝ่ายเถรวาท โดยเฉพาะรูปแบบนักบวชหญิงในประเทศไทย คือการบวชเป็นแม่ชี สมาทานศีล ๘ ศึกษาปฏิบัติธรรมในสำนักต่าง ๆ พอสมควรแล้ว ในที่สุดก็ได้ตัดสินใจอุปสมบทเป็นภิกษุณี โดยมีท่านรัตนสาระมหาเถระ ชาวศรีลังกาบวชให้ที่วัดศรีลังกาในลอสแองเจลิส ซึ่งนับพรรษากาลได้ ปีที่ ๑๓ เข้าไปแล้ว
นอกจากภิกษุณีผู้เป็นหัวหน้าก็มีอีกท่านหนึ่งชื่อ ภิกษุณีโสมนะ ซึ่งได้รับการอุปสมบทจากท่านภันเตคุณรัตนะ หรือภันเตจี(G) แห่งสำนักปฏิบัติภาวนาโซไซตี้ เวสท์เวอร์จีเนีย และมีภิกษุณีชาวเยอรมันอีกท่านหนึ่งพึ่งบวชได้ประมาณ ๔ เดือน และมีผู้เตรียมจะบวชต่อไปอีก ๒ ท่าน
ทั้งหมดขึ้นมาอาศัยป่าไม้สน (Redwood) บนยอดภูเขา Black Mountain ห่างจากเมืองซานฟรานซิสโก ประมาณ ๒.๓๐ ชม. มาตั้งเต็นท์ ปักกลดปฎิบัติธรรมอย่างเข้มข้นปิดวาจาอยู่ในป่าที่ห่างไกลจากผู้คน และเสียงรบกวน ในระยะเริ่มแรกนี้ยังไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกอะไร ต้องใช้น้ำซับที่ไหลออกมาโคนไม้โดยใช้สายยางเสียบเข้าไปให้น้ำไหลมาลงที่แทงค์น้ำ แล้วปล่อยน้ำลงมาตามสายยางเอามาใช้ที่ทำครัวและห้องน้ำชั่วคราว และไฟฟ้าก็ยังไม่มีต้องใช้โซล่าซิสเตมคือพลังงานแสงอาทิตย์เท่าที่จำเป็นในการใช้ตู้เย็นเก็บอาหารและใช้แสงไฟเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และส่วนอาหารการฉันก็ใช้ลูกศิษย์ทำอาหารให้วันละมื้อ ไม่มีการบิณฑบาตรเพราะห่างไกลหมู่บ้าน ที่สำคัญคือต้องการที่จะมีเวลาในการปฏิบัติธรรมให้มาก ๆ
ส่วนสถานที่ตั้งแต่ละเต้นท์ก็ห่างกันระยะทางประมาณ ๑๐๐ เมตร แต่ว่าอยู่ในป่ารกชัฎซึ่งบางครั้งก็มีสัตว์ป่าออกมาปรากฎให้เห็นเป็นครั้งคราว เช่นพวกหมี หมาป่า และงู มีบางครั้ง ซึ่งสัตว์เหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นอุปกรณ์การฝึกสมาธิ และอยู่กันด้วยจิตเมตตาเป็นที่ตั้ง เป็นการปลูกสติ